TK เผยธุรกิจเช่าซื้ออยู่ในภาวะสุญญากาศ ย้ำถือเงินสดในมือ พร้อมรุกตลาดเมื่อทุกอย่างชัดเจน

TK เผยธุรกิจเช่าซื้ออยู่ในภาวะสุญญากาศย้ำถือเงินสดในมือ พร้อมรุกตลาดเมื่อทุกอย่างชัดเจน

บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย เผยธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แข่งขันรุนแรง หนี้เสีย หรือ NPL จากข้อมูลสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ล่าสุดสูงถึง 37% ในขณะที่ TK เดินนโยบายชะลอการปล่อยสินเชื่อในช่วงสูญญากาศ 2 ครั้ง ครั้งแรกก่อนการบังคับใช้ประกาศของ สคบ. ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมา ร่วมกับการใช้นโยบายตั้งสำรองฯ ที่เข้มงวด และ Coverage Raito สูงถึง 105% ส่วน TK มี NPL 7% ณ ไตรมาส 1 ชี้ธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ปี 2566 นี้ ยังมีภาวะสูญญากาศ ครั้งที่ 2 ในช่วงก่อนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าควบคุมธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์-จักรยานยนต์ อีกกว่า 3,000 ราย ทั่วประเทศ คาด พ.ร.ฎ. จะชัดเจนในไตรมาส 4 ปีนี้ ย้ำ TK เตรียมเงินสดพร้อมขยายพอร์ตเช่าซื้อทันทีที่ทุกอย่างชัดเจน

นายประพล พรประภา กรรมการและรองผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า ตั้งแต่ไตรมาส 3 ในปี 2565 ที่ผ่านมา TK ได้ชะลอการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย เนื่องจากต้องการรอความชัดเจนเกี่ยวกับการประกาศเรื่อง “ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุม สัญญา พ.ศ. 2565” เมื่อตุลาคม 2565 และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งในภาวะสุญญากาศช่วงดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ประกอบการที่เร่งปล่อยสินเชื่อช่วงชิงจังหวะที่ดอกเบี้ยเช่าซื้อยังคงลอยตัวเพื่อเร่งขยายพอร์ต และกลุ่มผู้ประกอบการที่ชะลอการปล่อยสินเชื่อ โดยคาดการณ์ว่าหลังเริ่มมีผลบังคับใช้ประกาศฯ อาจมีลูกค้าหยุดผ่อนชำระสินเชื่อที่ดอกเบี้ยสูง เพื่อมาขอกู้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า

หลังประกาศฯ ข้างต้นมีผลบังคับใช้ มีการคาดการณ์ว่าตลาดเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จะชะลอตัวจากดอกเบี้ยที่มีเพดานกำหนดที่ 23% อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมากลับกลายเป็นว่ายังมีผู้ประกอบการหลายรายที่ยังแข่งขันกันรุนแรง เพราะต้องการแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด โดยจะเห็นได้จากการรายงานผลประกอบการของผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์มีการเติบโตพอสมควรในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา และในไตรมาส 1 ปีนี้ ยังคงเห็นการเร่งเติบโต

“ในปี 2566 นี้ การที่ ธปท. จะเข้ามากำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์อีกกว่า 3,000 ราย ส่งผลให้มีสุญญากาศเกิดขึ้นในธุรกิจเช่าซื้อฯ อีกครั้ง เนื่องจากผู้ประกอบการรอดูท่าทีและแนวทางในการกำกับดูแลจากทาง ธปท. ซึ่งข่าวล่าสุดจากสื่อมวลชนรายงานความคืบหน้าว่า 1 พฤศจิกายน 2566 นี้ พ.ร.ฎ. จะมีผลบังคับใช้ โดย ธปท. จะเริ่มทำโฟกัสกรุ๊ปคล้าย ๆ การทำ Public Hearing เพื่อหารือเกี่ยวกับประกาศและแบบรายงานข้อมูล ซึ่งการควบคุมน่าจะเป็นเรื่องของการคอนดักท์ต่าง ๆ หาก ธปท. ออกกฎมาอย่างชัดเจน ก็จะง่ายต่อผู้ประกอบการ และเข้าใจชัดเจนเหมือนกันหมด เนื่องจากผู้ประกอบการทุกรายต้องดำเนินกิจการภายใต้กฎเดียวกัน” นายประพลกล่าว

ด้านหนี้เสีย หรือ NPL ในธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ จากการข้อมูลสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ได้ทำการศึกษาล่าสุดไว้เมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดที่มีอยู่ รายงานว่า NPL ของธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศสูงถึง 37% ซึ่งสอดคล้องกับรายงานตัวเลข NPL ของผู้ประกอบการสินเชื่อ PICO ล่าสุด ณ เดือนมิถุนายน 2565 ที่สูงถึง 33% ใกล้เคียงกับตัวเลขที่สถาบันป๋วยได้ทำการวิจัยไว้ เนื่องจากเป็นลูกค้ากลุ่มเดียวกัน อีกทั้งยังน่าจะสอดคล้องกับผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ และสอดคล้องกับลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ซึ่งมีรายได้สูง แต่มีรายงานว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีรถยนต์ที่ถูกยึดสูงถึง 90,000 คัน และคาดว่าปีนี้จะมีรถถูกยึดมากถึง 200,000 - 250,000 คัน หลังจากหมดมาตรการพักชำระหนี้ทยอยครบตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 นี้ แต่สำหรับ TK ถึงแม้ว่า NPL พอร์ตในประเทศจะขยับตัวขึ้นจาก 6.8% เป็น 8% ซึ่งเกิดจากการชะลอปล่อยกู้มาตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้พอร์ตในประเทศหดตัว ส่งให้เปอร์เซ็นต์ NPL ดูเพิ่มขึ้นมาก แต่หากพิจารณาจำนวนเงินแล้ว ไม่ได้เพิ่มมาก จึงไม่ได้กังวลเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ภาพรวม NPL พอร์ตเช่าซื้อของ TK ที่รวมยอดเช่าซื้อจากต่างประเทศและในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 6.9% เป็น 7% ในไตรมาส 1 ปีนี้เท่านั้น โดยบริษัทฯ มีการตั้งสำรองถึง 7.5% หรือ 318 ล้านบาท โดยมี Coverage Ratio 105% (สัดส่วนการตั้งสำรองต่อหนี้เสีย) ซึ่งมีเกินความเพียงพอ

นายประพลคาดการณ์ว่า ตลาดเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศจะคงทรงตัวในไตรมาส 2 และ ไตรมาส 3 แต่ตลาดเช่าซื้อฯ ในต่างประเทศที่ TK ดำเนินธุรกิจอยู่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และคาดว่าเมื่อ ธปท. ทำโฟกัสกรุ๊ปแล้ว อาจจะมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อฯ ว่าต้องการให้ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหนและอย่างไร ซึ่งผู้ประกอบการจะได้เตรียมขยับปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจต่อไป

“ปัจจุบัน TK ถือเงินสด 2,101.3 ล้านบาท โดยไม่ต้องใช้เงินกู้ หรือออกหุ้นกู้แต่อย่างใด ทำให้ประเด็นดอกเบี้ยขาขึ้นไม่มีผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจของเรา ทันทีที่ ธปท. ออกประกาศ พ.ร.ฎ. มีผลบังคับใช้อย่างชัดเจน เราพร้อมเดินหน้ารุกขยายตลาดเต็มที่ หลังจากชะลอการเร่งสร้างพอร์ตในประเทศให้เติบโต และเมื่อบริบทของการแข่งขันเปลี่ยน ผู้ประกอบการทุกรายก็ต้องแข่งขันภายใต้กฎระเบียบและการควบคุมเดียวกัน เรามั่นใจว่า ด้วยความเชี่ยวชาญ ความเข้าใจตลาดเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจมากว่า 50 ปี รวมทั้งการเดินกลยุทธ์ทางธุรกิจที่แตกต่าง TK จะสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และเติบโตตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ในระยะกลางและระยะยาว” นายประพลกล่าวทิ้งท้าย


เกี่ยวกับบริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน)

บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ของประเทศ ปัจจุบันมี พนักงานกว่า 1,600 คน มีสาขาบริการรวม 73 สาขา มีบริษัทลูกในประเทศ 4 บริษัท และต่างประเทศ 3 บริษัท คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา ให้บริการลูกค้าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั้งในและนอกประเทศ โดยมีลูกค้าประมาณ 300,000 ราย





Mediathailand.Report

ติดต่อทำข่าว งานแถลงข่าว เชิญร่วมงาน , ข่าวประชาสัมพันธ์ , รีวิว โฆษณา ฯลฯ Admin: สื่อมวลชนคนทำข่าว , เพจ Mediathailand.report , Website : www.mediathailand.report , Youtube : MDT Channel ,https://www.tiktok.com/@mediathailand.report ,https://twitter.com/a_jaipiam ได้ที่ Email : pintorichplus@gmail.com

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า