บทความทางกฎหมาย โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “การค้นตามยุทธวิธีตำรวจ จะยกเว้น การค้นตามกฎหมายได้หรือ ?”

บทความทางกฎหมาย โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “การค้นตามยุทธวิธีตำรวจ จะยกเว้น การค้นตามกฎหมายได้หรือ ?”

สืบเนื่องจาก ปรากฏภาพข่าวจากโทรทัศน์ กลุ่มชายฉกรรจ์จำนวนหลายนายลงจากรถแล้วเดินเข้าไปภายในบ้านของผู้เสียหายซึ่งมีรั้วรอบขอบชิด มีประตูรั้ว แต่ขณะนั้นบังเอิญเปิดอยู่ โดยไม่ทันตรวจดูให้ดีว่า บ้านหลังดังกล่าวมีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่ ( ปัจจุบันบ้านเกือบทุกหลังมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดกันหมดแล้ว) ซึ่งใขณะนั้นผู้เป็นเจ้าของบ้านไม่อยู่ โดยได้ออกจากบ้านไปธุระ แต่ลูกชายของเจ้าของบ้านยังคงนอนหลับอยู่ภายในบ้าน

ผลการตรวจค้น ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย และไม่พบผู้กระทำผิดภายในบ้านหลังดังกล่าว ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของบ้านเห็นว่า ไม่ถูกต้อง จึงได้นำภาพที่บันทึกเหตุการณ์ขณะกลุ่มชายฉกรรจ์บุกรุก เข้าไปภายในบ้านของตนเอง มาร้องเรียนต่อสื่อมวลชน

ต่อมาทราบว่า กลุ่มชายฉกรรจ์จำนวนหลายนายดังกล่าว คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการกล่าวอ้างว่า“ ได้รับแจ้งว่า บ้านหลังดังกล่าว มีการมั่วสุมเสพยาเสพติด จึงนำกำลังเข้าไปตรวจสอบ”
ผู้เสียหายร้องเรียนว่า “หากเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหตุใดจึงไม่มี “หมายค้น” และ “ไม่แต่งเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

ต่อมา ผู้กำกับการสถานีตำรวจแห่งนั้น ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ว่า “ ชายฉกรรจ์ชุดดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริง และได้รับแจ้งว่า ที่บ้านหลังดังกล่าวมีการมั่วสุมเสพยาเสพติด” และกล่าวอ้างว่า “ เมื่อไปถึงเห็น “ผู้ต้องสงสัย” อยู่ภายในบ้านจึงรีบเข้าไปตรวจค้นตรวจสอบ โดยไม่ทันได้ขอ “หมายค้น”จากศาลแต่อย่างใด และยอมรับว่า ไม่มีหมายค้น แต่กล่าวอ้างว่า “ เป็นการค้นตามยุทธวิธีตำรวจ”

จึงทำให้เกิดความสงสัยว่า “ การค้นตามยุทธวิธีตำรวจ สามารถ ยกเว้น การค้นตามกฎหมาย ได้หรือ ? ” และ การกล่าวอ้างว่า “ เห็นผู้ต้องสงสัยเดินอยู่ภายในบ้านแล้ว จึงเข้าไปตรวจค้นภายในบ้าน โดยไม่ต้องมี หมายค้นจากศาล สามารถจะกระทำได้ จริงหรือ ? ”

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจ “ การค้นตามกฎหมาย” ว่า มีหลักกฎหมายเช่นใด , เหตุในการค้นบุคคล ค้นสถานที่ และ การค้นตามกฎหมายเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจค้นจักต้องปฏิบัติอย่างไร ?

“ การค้นตามกฎหมาย”ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ( ป.วิ.อ.)

มาตรา ๙๒ “ห้ามมิให้ค้น” ในที่รโหฐาน โดยไม่มีหมายค้น หรือ คําสั่งของศาล

เว้นแต่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตํารวจ เป็นผู้ค้น และในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน หรือ มีเสียงหรือพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงได้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในที่รโหฐานนั้น

(๒) เมื่อปรากฏ “ความผิดซึ่งหน้า” กําลังกระทําลงในที่รโหฐาน

(๓) เมื่อ บุคคลที่ได้กระทําความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไป หรือ มีเหตุอันแน่นแฟ้นควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น

(๔) เมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่า สิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด หรือ ได้มาโดยการกระทําความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทําความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทําความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้น มาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้าย หรือ ทําลายเสียก่อน

(๕) เมื่อ ที่รโหฐาน นั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และ การจับนั้นมีหมายจับหรือจับตามมาตรา ๗๘

ข้อปฎิบัติของ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตํารวจ ผู้ค้น : การใช้อํานาจตาม (๔) ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตํารวจผู้ค้น ส่งมอบ “สําเนาบันทึกการตรวจค้น” และ “บัญชีทรัพย์ที่ได้จากการตรวจค้น” รวมทั้ง จัดทํา “บันทึกแสดงเหตุผล” ที่ทําให้สามารถเข้าค้นได้เป็นหนังสือให้ไว้แก่ผู้ครอบครองสถานที่ที่ถูกตรวจค้น แต่ถ้าไม่มีผู้ครอบครองอยู่ ณ ที่นั้น ให้ส่งมอบหนังสือดังกล่าวแก่บุคคลเช่นว่านั้นในทันทีที่กระทําได้และรีบ “รายงานเหตุผลและผลการตรวจค้น” เป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป

แล้ว “ที่รโหฐาน” คืออะไร แตกต่างจาก “ ที่สาธารณสถาน” อย่างไร ?

“ที่รโหฐาน” หมายความถึง “ ที่ต่างๆซึ่งมิใช่ที่สาธารณสถาน” ดังที่บัญญัติไว้ในประมวล กฎหมายอาญา ( อ่านแล้วก็งง )

แล้ว “ที่สาธารณสถาน” คืออะไร

ที่สาธารณสถาน คือ “ สถานที่ใดๆ ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ ”

ฉะนั้น “ที่รโหฐาน” จึง หมายถึงสถานที่ใดๆ ซึ่งประชาชนไม่มีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ .เช่น บ้านพัก ที่พัก อาคารสถานที่ส่วนบุคคลที่มิใช่ที่ที่ทำการค้า หรือเปิดโอกาสให้คนเข้าไปได้

การค้นตัว “บุคคล” ในที่ สาธารณะ หรือสาธารณสถาน จะสามารถกระทำได้หรือไม่ ?

ป.วิ.อ. มาตรา ๙๓ - “ห้ามมิให้” ทําการค้น “บุคคล” ใดใน “ที่สาธารณสถาน”

เว้นแต่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตํารวจ เป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า “ บุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทําความผิด หรือ ซึ่งได้มาโดยการกระทําความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด”

ฉะนั้น เมื่อเราเดินอยู่ในที่สาธารณะ หากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ ฝ่ายปกครอง จะเข้ามาขอตรวจค้นตัวเรา เราต้องให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ ฝ่ายปกครอง แจ้งหรือบอกเราให้ทราบว่า “ มีเหตุอะไรในการมา ขอตรวจค้นตัวเราในที่สาธารณะ” ( ต้องมีเหตุในการขอตรวจค้นบุคคลในที่สาธารณะตามกฎหมายดังที่กล่าวอ้างข้างต้นด้วย)

หาก เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ ฝ่ายปกครอง มีหมายค้นจากศาล เราต้องทำอย่างไร ?

ป.วิ.อ. มาตรา ๙๔ - ให้ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตํารวจ ที่ทําการค้นในที่รโหฐาน สั่งเจ้าของหรือ คนอยู่ในนั้น หรือ ผู้รักษาสถานที่ซึ่งจะค้น ให้ยอมให้เข้าไปโดยมิหวงห้าม อีกทั้ง ให้ความสะดวกตามสมควรทุกประการในอันที่จะ จัดการตามหมาย ทั้งนี้ ให้ พนักงานผู้นั้น แสดงหมาย หรือ ถ้าค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายก็ให้ “ แสดงนามและตําแหน่ง”

ถ้า เจ้าของหรือ คนอยู่ในนั้น หรือ ผู้รักษาสถานที่ซึ่งจะค้น “มิยอมให้เข้าไป” เจ้าพนักงาน มีอํานาจ ใช้กําลังเพื่อเข้าไป ในกรณีจําเป็นจะ “เปิด” หรือ “ทําลาย” ประตูบ้าน ประตูเรือน หน้าต่าง รั้วหรือสิ่งกีดขวางอย่างอื่นทํานองเดียวกันนั้นก็ได้

ช่วงเวลาในการตรวจค้นในที่รโหฐาน :

ป.วิ.อ. มาตรา ๙๖ - การค้นในที่รโหฐาน ต้องกระทําระหว่าง “พระอาทิตย์ขึ้นและตก”

ข้อยกเว้น (๑) เมื่อลงมือค้นแต่ในเวลากลางวัน ถ้ายังไม่เสร็จจะค้นต่อไปในเวลากลางคืนก็ได้

(๒) ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง หรือซึ่งมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้เป็นพิเศษ จะทําการ ค้นในเวลากลางคืนก็ได้

(๓) การค้นเพื่อจับ “ผู้ดุร้าย” หรือ “ผู้ร้ายสําคัญ” จะทําในเวลากลางคืนก็ได้แต่ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากศาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

การค้นในที่รโหฐาน จะทำเพื่อ “ ค้นหาตัวคน” และ “ ค้นหาสิ่งของ” เท่านั้น

ป.วิ.อ. มาตรา ๙๘ - การค้นในที่รโหฐาน นั้นจะค้นได้แต่เฉพาะ “เพื่อหาตัวคน” หรือ “สิ่งของที่ต้องการค้น”เท่านั้น แต่ก็มีข้อยกเว้น ดังนี้

(๑) ในกรณีที่ “ค้นหาสิ่งของ” โดยไม่จํากัดสิ่ง เจ้าพนักงานผู้ค้นมีอํานาจ ยึดสิ่งของใด ๆซึ่งน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อเป็นประโยชน์หรือยันผู้ต้องหาหรือจําเลย

(๒) เจ้าพนักงาน ซึ่งทําการค้นมีอํานาจ “จับ” บุคคล หรือ สิ่งของอื่น ในที่ค้นนั้นได้เมื่อมีหมายอีกต่างหาก หรือในกรณีความผิดซึ่งหน้า

เจ้าพนักงานตำรวจ หรือ ฝ่ายปกครอง จะค้นสิ่งของจนทำให้สิ่งของ ทรัพย์สินของผู้ถูกค้นได้รับความเสียหาย หรือ กระจัดกระจายเกินความจำเป็นไม่ได้

ป.วิ.อ. มาตรา ๙๙ ในการค้นนั้น เจ้าพนักงานต้องพยายาม มิให้มีการเสียหาย และกระจัดกระจายเท่าที่จะทําได้

- หากค้นโดยชอบ ห้ามมิให้ ขัดขวาง การค้น

ป.วิ.อ มาตรา ๑๐๐ ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลซึ่งอยู่ในที่ซึ่งค้น หรือ จะถูกค้น จะขัดขวางถึงกับทําให้การค้นไร้ผล เจ้าพนักงานผู้ค้นมีอํานาจ เอาตัวผู้นั้นควบคุมไว้หรือให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานในขณะที่ทําการค้นเท่าที่จําเป็น เพื่อมิให้ขัดขวางถึงกับทําให้การค้นนั้นไร้ผล

หากค้น “สถานที่” แล้ว เกิดสงสัย จะค้น “ตัวบุคคล” ได้อีก

ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลนั้นได้เอาสิ่งของที่ต้องการพบซุกซ่อนในร่างกาย เจ้าพนักงานผู้ค้นมีอํานาจค้นตัวผู้นั้นได้ ดังบัญญัติไว้ตามมาตรา ๘๕

ก่อนทำการตรวจค้นในทีรโหฐาน เจ้าพนักงานผู้ตรวจค้นจะต้องแสดงความบริสุทธิ์ก่อน

ป.วิ.อ มาตรา ๑๐๒ - การค้นในที่รโหฐานนั้น ก่อนลงมือค้น ให้เจ้าพนักงานผู้ค้นแสดงความบริสุทธิ์เสียก่อน และ เท่าที่สามารถจะทําได้ ให้ค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้น หรือ ถ้าหาบุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคน ซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยาน

เมื่อค้นเสร็จ เจ้าพนักงานจักต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ป.วิ.อ. มาตรา ๑๐๓ – ให้เจ้าพนักงานผู้ค้น บันทึกรายละเอียดแห่งการค้น และ สิ่งของที่ค้นได้นั้นต้องมี บัญชีรายละเอียด ไว้

(๒) ต้องอ่าน บันทึกการค้นและบัญชีสิ่งของนั้น ให้ผู้ครอบครองสถานที่ บุคคลในครอบครัวผู้ต้องหา จําเลย ผู้แทนหรือพยานฟัง (แล้วแต่กรณี) แล้วให้ผู้นั้นลงลายมือชื่อรับรองไว้

(๓) ป.วิ.อ มาตรา ๑๐๔ - เจ้าพนักงานที่ค้นโดยมีหมาย ต้องรีบส่งบันทึกและบัญชีดังกล่าวพร้อมด้วยสิ่งของที่ยึดมา ไปยัง ผู้ออกหมาย หรือ เจ้าพนักงานอื่น ตามที่กําหนดไว้ในหมาย

คราวนี้มาดู “ การค้นตามยุทธวิธีตำรวจ” ว่า คืออะไร และจะยกเว้น “การค้นตามกฎหมาย” ได้หรือไม่ ?

“ การค้นตามยุทธวิธีตำรวจ” ผู้เขียนได้ไปค้นคว้าหาข้อมูลได้ มาจาก

“ การนำยุทธวิธีตำรวจมาใช้ให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายว่าด้วย การค้น การจับ การควบคุม” จัดพิมพ์โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมัย พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๖๕

จากคำปรารภของ พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า

“การค้น การจับ และการควบคุมตัวผู้ต้องหา หรือ ผู้กระทำความผิดตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของตำรวจ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อ สิทธิ เสรีภาพ และชื่อเสียงของผู้เกี่ยวข้องโดยตรง

ดังนั้น ในการเข้าปฏิบัติการ จึงจำเป็นจะต้องยึดหลักกฎหมาย และปฏิบัติตามยุทธวิธีตำรวจอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้มีการกระทำใดที่อาจเป็นการฝ่าฝืน หรือละเมิดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงาน และผู้เกี่ยวข้อง ลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น”

เมื่อพิจารณา “ ยุทธวิธีตำรวจ” ตามความหมายของสิ่งตีพิมพ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าว พบว่า “ ยุทธวิธีตำรวจ” มีความหมายว่า

แนวทางการใช้อำนาจให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้ปลอดภัยจากอันตรายในการปฏิบัติหน้าที่ และให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายและกระทำการอย่างเหมาะสม”

ผู้เขียนจึงเห็นว่า “ การจะกล่าวอ้างว่า ค้นตามยุทธวิธีตำรวจ ก็ต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามหลักกฎหมายในเรื่อง การค้น ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ยิ่งกล่าวอ้างว่า เป็นการค้นตามยุทธวิธีตำรวจ ยิ่งต้อง ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้ปลอดภัยจากอันตรายในการปฏิบัติหน้าที่ (ปลอดภัยจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และมาตราอื่นๆที่เกี่ยวข้อง) และให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายและกระทำการอย่างเหมาะสม (ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์แห่งคดี)

“เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ไม่อาจกล่าวอ้าง “ การค้นตามยุทธวิธีตำรวจ” เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหลักกฎหมายในเรื่อง “การค้นตามกฎหมาย” ไปได้

• นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์

อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ

(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษา การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร(ชุดที่ ๒๕)

๑๐ เมษายน ๒๕๖๗



Mediathailand.Report

ติดต่อทำข่าว งานแถลงข่าว เชิญร่วมงาน , ข่าวประชาสัมพันธ์ , รีวิว โฆษณา ฯลฯ Admin: สื่อมวลชนคนทำข่าว , เพจ Mediathailand.report , Website : www.mediathailand.report , Youtube : MDT Channel ,https://www.tiktok.com/@mediathailand.report ,https://twitter.com/a_jaipiam ได้ที่ Email : pintorichplus@gmail.com

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า