บทความทางกฎหมาย โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “มหาสงกรานต์ World Songkran Festival”

บทความทางกฎหมาย โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “มหาสงกรานต์ World Songkran Festival”

ปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๖ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก” (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน “ประเพณีสงกรานต์” ของไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

นับเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ลำดับที่ ๔ ของประเทศไทย ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ซึ่งได้แก่ โขนไทย ( ๒๕๖๑ ) ,นวดไทย ( ๒๕๖๒ ), โนรา ( ๒๕๖๔ ) และ “ประเพณีสงกรานต์” ( ๒๕๖๖ )

ดังนั้น “สงกรานต์ ๒๕๖๗” รัฐบาลจึงประกาศจัดกิจกรรม “มหาสงกรานต์ World Songkran Festival” ตั้งแต่วันที่ ๑ - ๒๑ เมษายน ๒๕๖๗ รวม ๒๑ วัน เรียกว่า “ระเบิดเถิดเทิงกันไปเลย”

จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า สงกรานต์ ๒๕๖๗ ปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวทั้งจากต่างประเทศและนักท่องเที่ยวชาวไทยจะมาร่วมเล่นน้ำใน “ เทศกาลสงกรานต์ ๒๕๖๗” กันอย่างมากมายให้สมกับเป็น “มหาสงกรานต์ World Songkran Festival”

กฎหมายที่ควรจะต้องรู้ ก่อนออกไปเล่นน้ำ “ มหาสงกรานต์”

(๑) มีคนกล่าวว่า “ ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะเป็นช่วงที่เราได้เห็นสาวสาว (จริงบ้าง,ไม่จริงบ้าง) แต่งตัวโป๊เปลือย ซึ่งผู้แต่งตัวโป๊เปลือยดังกล่าวอาจคิดว่า เป็นสิทธิ เสรีภาพของเขา หรือเธอ อีกทั้งเป็นเทศกาลสงกรานต์ จึงลืมนึกไปว่า

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๘๘ บัญญัติว่า ผู้ใด กระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปลือย หรือ เปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น ต้องระวางโทษ- ปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท

(๒) เมื่อร่างกายเปียกน้ำ เสื้อผ้าที่สวมใส่ก็บ้างบาง รัดรูปโชว์ส่วนสัด ยั่วตายั่วใจ ยั่วมือ เผลอไปจับ เผลอไปล้วงเข้าให้ ก็อาจเป็นความผิด ( กระทำการในลักษณะคุกคามทางเพศ )

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๘ “ ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่า ๑๕ ปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ฯ ต้องระวางโทษ - จำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี ปรับไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

(๓) จากนั้น เราสนุก แต่เขาไม่สนุกด้วย ไป “ ประแป้ง สาดน้ำ โดยผู้อื่นไม่ยินยอม” ก็อาจจะเป็นความผิดฐาน “ ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน รำคาญ ” เช่น การสาดน้ำใส่คนที่ไม่เล่นสงกรานต์ เช่น พนักงานกำลังไปทำงาน เขาไม่ได้เล่นน้ำ เล่นสงกรานต์ด้วย ทำให้เขาได้รับความเดือดร้อนรำคาญ ก็อาจเป็นความผิด

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๗ – ผู้ใด กระทำการด้วยประการใดต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือทำให้ได้รับความอับอาย หรือ เดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท

แต่ถ้าเป็นการกระทำในที่ สาธารณสถาน หรือ ต่อหน้าธารกำนัล หรือ ส่อในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ โทษจะหนักขึ้น คือ จำคุกไม่เกิน ๑ เดือน ปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท

ทั้งนี้ มีกำหนดอายุความ ๑ ปี นับแต่วันกระทำความผิด ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕

(๔) “ หากสาดน้ำแล้ว ทำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายด้วย “ เช่น โทรศัพท์เสียหายเปียกน้ำทำให้เสียใช้การไม่ได้ หรือตกแตกเสียหายก็อาจจะเป็นความผิดฐาน “ทำให้เสียทรัพย์”

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘ -ผู้ใด ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือ ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำผิดฐาน “ ทำให้เสียทรัพย์” ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท

(๕) การสาดน้ำแล้ว ( โดยเขาไม่ยินยอม ) อาจทำให้เป็นความผิดฐาน “ ทำร้ายร้ายกายผู้อื่นแต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” อันเป็นความผิด “ ลหุโทษ ”

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๑ - ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท

เทียบเคียงกับคำพิพากษาของศาลฎีกา ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๒๔๔ / ๒๕๕๓ จำเลย ใช้เหล้าสาดใส่หน้าของผู้เสียหาย อันเป็นการใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำ โดยเจตนาที่จะกระทำต่อผู้เสียหาย แต่เมื่อเหล้าไปถูกนางพจนีย์เท่ากับผลของการกระทำเกิดแก่นางพจนีย์โดยพลาดไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐาน “ พยายามใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหาย”และ “ ใช้กำลังทำร้ายนางพจนีย์โดยพลาด” ไปด้วย ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

(๖) การ สาดน้ำสงกรานต์โดยไม่สนใจคำเตือน เช่น สาดน้ำผสมน้ำแข็ง , สาดน้ำผสมสี , สาดน้ำผสมพริก หรือ ใช้ปืนฉีดน้ำ หรือใช้ปั๊มน้ำจนทำให้ น้ำมีแรงดันน้ำสูง จนทำให้ผู้อื่นอันตรายหรือ บาดเจ็บ อาจมีความผิด

ฐาน “ ทำร้ายร้ายกายผู้อื่นแต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ ดังกล่าวแล้วข้างต้น หรือ

ฐาน “ ทำร้ายร่างกายผู้อื่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕

- ผู้ใด ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น ผู้นั้นกระทำผิดฐาน “ ทำร้ายร่างกาย” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หรือ อาจเป็นความผิด ฐาน “ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ เดือน ถึง ๑๐ ปี และปรับตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ บาท ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท เช่นถูกปืนฉีดน้ำ หรือปั๊มน้ำที่มีแรงดันน้ำสูง ฉีดเข้าตา จนเป็นเหตุให้ ตาบอด

***** จะมาอ้าง “เทศกาล” หรือ “ประเพณีไทย” หรือ “ มหาสงกรานต์ ๒๕๖๗ ” มาเป็นบทยกเว้นความผิดไม่ได้” *****

(๗) การเล่นน้ำสงกรานต์ มักจะพบว่า มีการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หากดื่มแล้วไปขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ผู้ขับขี่อาจจะมีความผิด

๗.๑ ฐาน “ ขับรถในขณะเมาสุรา” อันเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ซึ่งมีโทษ ตามมาตรา ๑๖๐ ตรี ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับตั้งแต่ ๕,๐๐๐ บาท ถึง ๒๐,๐๐๐ บาท และให้ศาลสั่ง พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า ๖ เดือน หรือ เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

๗.๒ และหาก ผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุราแล้วเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ , ได้รับอันตรายสาหัส หรือ ถึงแก่ความตาย ผู้ขับรถในขณะเมาสุรา ต้องระวางโทษหนักขึ้น ( ตามลำดับ ) และอาจจะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

๗.๓ หาก กระทำผิดซ้ำ “ ขับรถในขณะเมาสุรา” ซ้ำอีกภายใน ๒ ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก ต้องระวางโทษ เพิ่มขึ้น เป็น จำคุกไม่เกิน ๒ ปี และปรับตั้งแต่ ๕๐,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับ

แค่ไหนเพียงใดถือว่า “ ขับรถในขณะเมาสุรา” ?

ตามปกติ ผู้ขับขี่รถ จะถือว่าเป็น “ ผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น จะต้องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากเลือด เกิน ๕๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์”

แต่ในกรณีที่ ผู้ขับขี่รถ ที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี บริบูรณ์ หรือ ผู้ขับขี่ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่ หรืออยู่ระหว่างถูกพัก หรือ เพิกถอนใบอนุญาต” จะถือว่า เป็นผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุรา หรือของมึนเมาอย่างอื่นได้ ต่อเมื่อ “ ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด เกิน ๒๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

นี่เป็นเพียงบทกฎหมายบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “เทศกาลสงกรานต์” ที่อาจจะเกิดขึ้น

ประเพณีสงกรานต์ของไทย เป็นประเพณีที่ดีงาม เชื่อกันว่า สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนมาถึงปัจจุบัน จนกระทั่ง องค์การ “ยูเนสโก” (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน “ประเพณีสงกรานต์” ของไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และในเดือนเมษายน ปี ๒๕๖๗ นี้ เชื่อว่า ประเทศไทยจะต้อนรับ นักท่องเที่ยวทั่วโลกที่จะมาร่วมงาน “ มหาสงกรานต์ ๒๕๖๗ ”

ผู้เขียนหวังว่า คนไทยทุกคนจะร่วมกันเป็นเจ้าบ้านร่วมกันต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่กำลังจะเข้ามาร่วมงาน “ มหาสงกรานต์ ๒๕๖๗” โดยรักษาประเพณีไทย สงฆ์น้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ขอพรจากผู้ใหญ่ ผู้ที่เคารพนับถือ และหากจะเล่นน้ำ สาดน้ำ ก็ควรจะพองาม และเคารพสิทธิของผู้ที่ไม่ได้ร่วมเล่นน้ำ หรือ ไม่อนุญาต หรือยินยอมให้สาดน้ำ และต้องไม่ใช้ปืนฉีดน้ำ หรือปั๊มน้ำที่มีแรงดันน้ำสูงฉีดใส่ผู้อื่น ไม่ปะแป้งโดยผู้อื่นไม่ยินยอม ไม่ฉวยโอกาสกระทำอนาจารผู้อื่น รวมทั้ง ไม่ดื่มสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นจนกระทั่งครองสติไม่อยู่ และจะต้องไม่ขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น

จะมาอ้าง “ประเพณี “ มาเป็นเหตุ “ยกเว้นโทษ” ไม่ได้

มิฉะนั้น ประเพณีสงกรานต์ อันเป็นประเพณีที่ดีงามของไทยจนได้รับการยอมรับจาก ยูเนสโกให้เป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ดังกล่าว อาจจะต้องถูกกล่าวขานไปในแนวทางอื่น

นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร
๘ เมษายน ๒๕๖๗


Mediathailand.Report

ติดต่อทำข่าว งานแถลงข่าว เชิญร่วมงาน , ข่าวประชาสัมพันธ์ , รีวิว โฆษณา ฯลฯ Admin: สื่อมวลชนคนทำข่าว , เพจ Mediathailand.report , Website : www.mediathailand.report , Youtube : MDT Channel ,https://www.tiktok.com/@mediathailand.report ,https://twitter.com/a_jaipiam ได้ที่ Email : pintorichplus@gmail.com

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า