บทความทางกฎหมาย โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “ ยกฟ้อง ฝรั่งเตะหมอ เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวภาค 2 ”

บทความทางกฎหมาย โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์เรื่อง “ ยกฟ้อง ฝรั่งเตะหมอ เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวภาค 2 ”

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 หนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ต่างลงข่าว
“ ศาลยกฟ้อง คดีฝรั่งเตะหมอ”

คมชัดลึกออนไลน์ : 3 ก.ย. 2567 ที่ศาลแขวงภูเก็ต ศาลนัดพิพากษาคดี พนักงานอัยการคดีศาลแขวง โจทก์ และ แพทย์หญิง ธ.หรือ หมอปาย เป็นโจทก์ และโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องนาย ด. ชาวสวิตเซอร์แลนด์ เจ้าของปางช้างภูเก็ต ในคดีทำร้ายร่างกาย กรณีเตะเข้าที่หลังหมอปาย พร้อมตะโกนด่าถ้อยคำหยาบคาย ขณะนั่งที่บันไดหน้าวิลล่าหรู ชายหาดยามู ต.ป้าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลได้มีคำสั่งให้ “รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน” โดยสำนวนคดีแรก “ พนักงานอัยการคดีศาลแขวงภูเก็ต” เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยได้ใช้กำลังทำร้ายร่างกาย นางสาว ธ. ผู้เสียหาย โดยการเตะบริเวณหลังหนึ่งครั้งเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ เป็นแผลฟกช้ำบริเวณหลังส่วนบน โดย ไม่ถึงกับ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ( ทำร้ายไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท)

สำนวนที่สอง นางสาว ธ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้ นางสาว ธ. มีอาการทางจิตประสาทโศกเศร้าเสียใจซึ่งเป็นอาการทางจิตเวชโดยแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD ( โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ) ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ( ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท )

ศาลให้เรียก “พนักงานอัยการคดีศาลแขวงภูเก็ต” ว่า “โจทก์ที่ 1” และ เรียกนางสาวธารดาวฯ ว่า “โจทก์ที่ 2” คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า “จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ? ”

เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำเบิกความ และ คำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ที่ 2 ประกอบกับคลิปวิดีโอตามวัตถุพยาน ปรากฏว่า “ มีความแตกต่างและไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ ” เนื่องจากตามคลิปวิดีโอปรากฏภาพ โจทก์ที่ 2 หันหน้ามาทางข้างขวาและเหลียวหลังมองไปทิศทางที่จำเลยกำลังเดินตรงมาที่โจทก์ที่ 2 จึงเชื่อว่า หากจำเลยเตะโจทก์ที่ 2 จริง โจทก์ที่ 2 และนางสาว ศ. ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยกัน ย่อมน่าจะเห็นเหตุการณ์ และ ยืนยันได้หนักแน่นว่า จำเลยเตะทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ 2 โดยมีลักษณะและรายละเอียดการเตะอย่างไรกันแน่ เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากหลอดไฟในสวน จากดวงจันทร์เต็มดวงเพียงพอที่พยานโจทก์จะมองเห็นและจดจำเหตุการณ์ได้

แต่โจทก์ที่ 2 กลับไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงถึงการถูกทำร้ายร่างกายนั้นได้ อันเป็นข้อพิรุธให้น่าสงสัย นอกจากนี้ ตามคลิปวิดีโอวัตถุพยานก็ ไม่ปรากฏภาพเหตุการณ์ที่แสดงถึงจำเลยใช้เท้าเตะโจทก์ที่ 2 จนมีลักษณะคะมำไปด้านหน้าดังที่โจทก์ที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวน
แต่กลับปรากฏภาพโจทก์ที่ 2 สามารถลุกขึ้นยืนและเดินออกไปจากที่เกิดเหตุได้อย่างปกติ อันขัดแย้งกับคำให้การของโจทก์ที่ 2 ทั้งไม่สมเหตุสมผลเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบรูปร่างของจำเลยที่เป็นคนสูงใหญ่กว่าโจทก์ที่ 2 มาก ประกอบกับโจทก์ที่ 2 กับจำเลยไม่เคยรู้จักกัน หรือมีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน พฤติการณ์แห่งคดี ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 และจำเลยมีปากเสียงทะเลาะวิวาทกันก่อน และปกติบุคคลทั่วไป เมื่อถูกทำร้ายร่างกายโดยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน ย่อมต้องสอบถามมูลเหตุที่ทำร้ายตน แต่ทางนำสืบของโจทก์กลับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวในชั้นพิจารณา

นอกจากนี้ พยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนยังเบิกความอีกว่า “ ตำแหน่งที่โจทก์ที่ 2 นั่งบน บันไดขั้นที่สองนับจากด้านล่าง หากจำเลยยืนอยู่บันไดขั้นบนสุดจะไม่สามารถเตะถึงโจทก์ที่ 2 ได้ และหากจำเลยเดินลงมาอีกหนึ่งถึงสองขั้นบันไดย่อมประชิดตัวโจทก์ที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่2 และนางสาวศ. ต้องเห็น เหตุการณ์เป็นอย่างดี

อีกทั้ง พยานแวดล้อมกรณีของโจทก์ทั้งสอง ไม่มีพยานปากใดให้การยืนยันว่า จำเลยรับต่อพยานว่าได้เตะโจทก์ที่ 2 ทั้งหลังเกิดเหตุมีการไกล่เกลี่ยในที่เกิดเหตุจำเลยก็ปฏิเสธต่อ ตำรวจของสถานีตำรวจภูธรถลาง ว่า ไม่ได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ 2

สำหรับ “ รายละเอียดบาดแผลของโจทก์ที่ 2 ” โจทก์ทั้งสองมี พยานปากแพทย์ออกผลการตรวจชันสูตรบาดแผล เบิกความว่า พยานไม่ได้ตรวจร่างกายโจทก์ที่ 2 เพียงแต่ดูลักษณะบาดแผลจากภาพถ่ายและข้อมูลที่พยาบาลบันทึกไว้เท่านั้น โดยโจทก์ที่ 1 ไม่ได้นำพยาบาลซึ่งเป็นผู้ถ่ายรูปบาดแผลของโจทก์ที่ 2 มาเบิกความยืนยัน และมิได้ส่งภาพถ่ายบาดแผลและประวัติการรักษาทางเวชระเบียนซึ่งโจทก์ที่ 2 เข้าทำการรักษาก่อนออกผลการตรวจทางนิติเวช โดยภาพถ่ายบาดแผลจำเลยเป็นฝ่ายอ้างเป็นพยาน

ดังนั้น ผลการตรวจชันสูตรบาดแผลจึงยังมีข้อพิรุธให้สงสัย เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองที่นำสืบมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ส่วนที่โจทก์ที่ 2 อ้างว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 รับอันตรายแก่จิตใจโดยป่วยเป็นโรค PTSD เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดหรือไม่ ดังวินิจฉัยข้างต้น ข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายแก่จิตใจหรือไม่ จึงย่อมไม่ใช่ผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย

นอกจากนี้ที่โจทก์ที่ 2 อ้างว่าป่วยเป็นโรค PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) จำเลยนำสืบหักล้างและมีพยานปากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งศาลหมายเรียกมาให้ความเห็นเป็นหนังสือและมาเบิกความประกอบ มีความเห็นตรงกันว่า “ การวินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD บุคคลนั้นต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่อันตรายถึงแก่ชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บรุนแรง หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเหตุการณ์ที่โจทก์ที่ 2 ได้รับมาตามที่กล่าวอ้างนั้น ไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว ”

พิพากษายกฟ้อง

จากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น (ศาลแขวงภูเก็ต) ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เหตุผลที่ศาลพิพากษา “ยกฟ้อง” คือ “ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย” ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคสองที่ว่า

“ เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ”

มาดูว่าศาลชั้นต้น สงสัยว่า จำเลยจะเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่นั้น ศาลดูจากตรงไหน ?

1. คำเบิกความ และ คำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ที่ 2 (หมอปาย) ประกอบกับ คลิปวิดีโอตามวัตถุพยาน ปรากฏว่า “ มีความแตกต่างและไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ ”

2. โจทก์ที่ 2 (หมอปาย) และนางสาว ศ. “ไม่ได้ยืนยันได้หนักแน่นว่า จำเลยเตะทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ 2 โดยมีลักษณะและรายละเอียดการเตะอย่างไรกันแน่

3. คลิปวิดีโอวัตถุพยาน ไม่ปรากฏภาพเหตุการณ์ที่แสดงถึงจำเลยใช้เท้าเตะโจทก์ที่ 2 (หมอปาย) จนมีลักษณะ “คะมำไปด้านหน้า” ดังที่โจทก์ที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวน

4. ปรากฏภาพโจทก์ที่ 2 (หมอปาย) สามารถลุกขึ้นยืน และ เดินออกไปจากที่เกิดเหตุได้อย่างปกติ

5. พยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนเบิกความว่า “ ตำแหน่งที่โจทก์ที่ 2 (หมอปาย) นั่งบน บันไดขั้นที่สองนับจากด้านล่าง หากจำเลยยืนอยู่บันไดขั้นบนสุดจะไม่สามารถเตะถึงโจทก์ที่ 2 (หมอปราย) ได้

6. ไม่มีพยานปากใดให้การยืนยันว่า จำเลยรับต่อพยานว่า ได้เตะโจทก์ที่ 2

7. พยานปากแพทย์ซึ่งเป็นผู้ออก “ผลการตรวจชันสูตรบาดแผล” เบิกความว่า พยานไม่ได้ตรวจร่างกายโจทก์ที่ 2 (หมอปาย) เพียงแต่ดูลักษณะบาดแผลจากภาพถ่ายและข้อมูลที่พยาบาลบันทึกไว้เท่านั้น

8. การวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมที่ 2. (หมอปาย) จะเป็นโรค PTSD อันเนื่องมาจากเหตุในคดีนี้หรือไม่นั้น บุคคลนั้นจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่อันตรายถึงแก่ชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บรุนแรง หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่เหตุการณ์ที่โจทก์ที่ 2 ( หมอปาย) ได้รับมาตามที่กล่าวอ้างนั้น ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว

ในคดีอาญานั้น “ห้ามมิให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยจนกว่า จะแน่ใจว่า มีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น” ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227วรรคแรก และ

“ เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ” ( มาตรา 227 วรรคสอง )

ซึ่งหมายความว่า “ หากศาลสงสัยว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ศาลย่อมยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย และพิพากษา “ยกฟ้อง” ได้ทันที

ฉะนั้น ความยากของการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดนั้น อยู่ที่ โจทก์จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็น หรือเชื่อว่า จำเลยเป็นผู้กระทำผิดนั้นจริง โดยปราศจากข้อสงสัย เพราะหากศาลสงสัย ศาลอาจพิพากษา “ยกฟ้อง” โดยอ้างเหตุแห่งความสงสัยนั้นได้ทันที

การที่โจทก์จะพิสูจน์ให้ศาลเห็น หรือเชื่อว่า จำเลยเป็นผู้กระทำผิด โดยปราศจากข้อสงสัยจำเป็นต้องมี

1. คำให้การของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นประจักษ์พยาน ในชั้นสอบสวน ที่ถูกต้องและเป็นไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และมีรายละเอียดครบถ้วน รวมถึง คำให้การของพยานที่อยู่ร่วมในที่เกิดเหตุ หรือในขณะเกิดเหตุ (หากมี)

2. วัตถุพยานหรือพยานแวดล้อม หรือพยานวิทยาศาสตร์ หรือภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิด

3. การเบิกความของผู้เสียหาย หรือประจักษ์พยาน (ในชั้นศาล) รวมถึงพยานแวดล้อม (หากมี) ที่มียืนยันข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจนกระทั่งนำไปสู่การฟ้องดำเนินคดีต่อศาล ( ในบางคดีพบว่า ผู้เสียหายเบิกความไม่อยู่ในร่องในรอย กลับไปกลับมา ซึ่งอาจเกิดจากความสับสน, ความเครียด, ความกดดัน ความกลัว ฯลฯ ของพยานก็อาจเป็นได้ ทำให้คำเบิกความของพยานไม่น่าเชื่อถือ )

4. พยานที่เป็นแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษา , พยานผู้เชี่ยวชาญตรวจที่เกิดเหตุ , พยานผู้เชี่ยวชาญตรวจวัตถุพยาน โดยเฉพาะคดีความผิดทางเพศ ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐาน ฆ่าผู้อื่น หรือ พยายามฆ่า จำเป็นต้องมีคำให้การ / คำเบิกความของแพทย์ผู้ตรวจบาดแผล หรือตรวจร่องรอยการถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึง รายงานการตรวจบาดแผลของแพทย์

คดีนี้ ในตอนเริ่มต้นคดี ปรากฏภาพข่าวในสื่อต่างๆ ที่ดูแล้วน่าเชื่อว่า เป็นการบันทึกจากโทรศัพท์มือถือของ นาย ด. ที่ทำให้เห็นและน่าเชื่อว่า “ฝรั่งเตะหมอ ” จนกระทั่งนำไปสู่การดำเนินคดีอาญากับนาย ด. ฯ และการเพิกถอนวีซ่าของนาย ด. และพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่ นาย ด. ว่า “ ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท

แต่ต่อมา เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีนี้ไปให้ พนักงานอัยการคดีศาลแขวงภูเก็ต พิจารณา พนักงานอัยการคดีศาลแขวงภูเก็ต มีคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” นาย ด. ในความผิดฐาน ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตาม มาตรา 295 โดยเห็นว่า พยานหลักฐานมีเพียงพอฟ้องนาย ด. ในความผิดฐาน “ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน10,000 บาท เท่านั้น

พนักงานอัยการฯ จึงมีคำสั่งฟ้อง นาย ด. ในความผิดฐาน “ ทำร้ายร่างกายไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตามมาตรา 391 ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ (โทษจะเบากว่า มาตรา 295)

ในครั้งนั้น “สังคม” ได้วิพากวิจารณ์การสั่งคดี และการดำเนินคดีของพนักงานอัยการที่ “สั่งไม่ฟ้อง”นาย ด. ตามมาตรา 295 แต่สั่งฟ้องในความผิดตามมาตรา 391 ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ

ต่อมา ปรากฏภาพข่าวว่า หมอปาย ได้เข้าพบ นายธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี (สมศักดิ์ เทพสุทิน) เพื่อขอความช่วยเหลือ และต่อมาปรากฏว่า หมอปาย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง ในความผิดฐาน “ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 โดยกล่าวอ้างว่า

“ จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ โจทก์ (หมอปาย) ป่วยเป็นโรค PTSD ( Post-traumatic Stress Disorder ) อันเป็นอันตรายแก่จิตใจ” ตามมาตรา 295 จึงเป็นที่มาของ : 2 คดี 2 โจทก์ 2 ข้อหา แต่รวมเป็น 1 คดี ( ศาลสั่งรวมพิจารณา )

มาดูความแตกต่างระหว่าง “ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหริอจิตใจ” ตามมาตรา 295 กับ “ทำร้ายร่างกายไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตามมาตรา 391

มาตรา 391 “ไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” เช่น แผลถลอก แผลข่วน รอยช้ำแดง รักษาไม่กี่วันหาย แผลกดบวมเจ็บ รักษาไม่เกิน 5 วัน เป็นต้น

มาตรา 295 “ เป็นอันตรายแก่กาย หรือจิตใจ” เช่น แผลแตก มีโลหิตไหล รักษาหลายวันจึงหาย ( แต่ไม่เกิน 20 วัน เพราะหากเกินกว่า 20 วัน อาจเป็น อันตรายสาหัส ตามมาตรา 297 ซึ่งมีโทษหนักกว่า)

เมื่อคดีนี้ ผู้เสียหาย (หมอปาย) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนาย ด. ในความผิดฐาน “ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตามมาตรา 295 เอง ก็จะต้องนำสืบให้ได้ว่า

“ ผลจากการทำร้าย (เตะ) ของนาย ด.ดังกล่าว ทำให้ โจทก์ที่ 2 (หมอปาย) ได้รับอันตรายแก่จิตใจ ป่วยเป็นโรค PTSD ( Post-traumatic Stress Disorder ) อันเป็นอันตรายแก่จิตใจ” ตามมาตรา 295

ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วม หรือ โจทก์ที่ 2 (หมอปาย) สืบไม่ได้ว่า กรณีดังกล่าวเข้าหลักเกณฑ์ ป่วยเป็นโรค PTSD ( Post-traumatic Stress Disorder ) อันเป็นอันตรายแก่ จิตใจ ตามมาตรา 295 แล้ว และเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยดังกล่าว กรณีจึงไม่อาจลงโทษ นาย ด.ตามมาตรา 295 ได้

คำพิพากษานี้จะเป็นบทเรียนสำคัญของการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิด นอกจาก คำให้การ ในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายหรือพยาน (ในชั้นตำรวจ) , คำเบิกความของผู้เสียหาย หรือพยาน (ในชั้นศาล)จะต้องเป็นไปตาม “ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง” สอดคล้องกับพยานวัตถุ พยานเอกสาร ภาพที่บันทึกได้ ทั้งจากกล้องวงจรปิด โทรศัพท์มือถือ (หากมี) และจะต้องมีพยานที่เป็นแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของผู้เสียหาย หรือตรวจศพ , พยานที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์ และ การดำเนินคดีจะต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง

ข่าว “ฝรั่งเตะหมอ” สะเทือนถึงดวงดาว หลังเกิดเหตุ มีการเพิกถอนวีซ่า , มีการขุดคุ้ยตรวจสอบคดีเก่าเก่าของนาย ด. , การดำเนินการของมูลนิธิ และปางช้างของนาย ด.

ส่วนข่าว ศาลพิพากษา “ ยกฟ้อง ” คดีฝรั่งเตะหมอ ยิ่งสะเทือนไปถึงดวงดาวอีก โดยเฉพาะหมอปาย ที่เกรงว่าอาจถูกนาย ด. ฟ้องกลับได้ ” แล้วสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับหมอปายตามภาพข่าว มันคืออะไร นาย ด. ไม่ผิดอะไรเลย ใช่หรือไม่ และ การสั่งเพิกถอนวีซ่าของนาย ด. ไปด้วยเหตุดังกล่าวไปแล้ว จะทำอย่างไร ผู้สั่งเพิกถอนวีซ่าจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ และผลที่จะตามมาภายหลังคำพิพากษาของศาลฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า คดีนี้ศาลพิพากษา “ยกฟ้อง” ด้วยเหตุ “ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง

มิใช่ “ยกฟ้อง” ด้วยเหตุ “ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด” หรือ “ จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด” หรือ ที่เรียกว่า “ยกขาด”

การ “ยกฟ้อง” ในคดีนี้จึงเป็น บทเรียนสำคัญสำหรับ พยานผู้เสียหาย พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการโจทก์ ทนายความโจทก์ ในการรวบรวมพยานหลักฐาน และ การพิจารณาดำเนินคดีจักต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน มิใช่ เป็นไปตามสื่อ หรือ เป็นไปตามกระแสสังคม

หมายเหตุ – บทความนี้ผู้เขียนอ้างอิงข้อมูล “คำพิพากษา”ตามที่ปรากฏจากสื่อที่อ้างถึงข้างต้น ซึ่งเผยแพร่ในหลายสื่อในลักษณะเดียวกัน ข้อความคล้ายกัน จึงเชื่อว่าถูกต้อง

นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่ 25)

6 กันยายน 2567




Mediathailand.Report

ติดต่อทำข่าว งานแถลงข่าว เชิญร่วมงาน , ข่าวประชาสัมพันธ์ , รีวิว โฆษณา ฯลฯ Admin: สื่อมวลชนคนทำข่าว , เพจ Mediathailand.report , Website : www.mediathailand.report , Youtube : MDT Channel ,https://www.tiktok.com/@mediathailand.report ,https://twitter.com/a_jaipiam ได้ที่ Email : pintorichplus@gmail.com

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า