บทความทางกฎหมาย โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “ขึ้นต้นเป็น บอสส์ ลงท้ายเป็น บุ๋ม เส้นบางบางระหว่าง ธุรกิจ กับ หลอกลวงประชาชน”

บทความทางกฎหมาย โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์เรื่อง “ขึ้นต้นเป็น บอสส์ ลงท้ายเป็น บุ๋ม เส้นบางบางระหว่าง ธุรกิจ กับ หลอกลวงประชาชน”

นาทีนี้ คงไม่มีข่าวใดดังไปกว่า “ดิไอคอนกรุ๊ป” หรือ “ บอสส์พอลล์” กลบกระแส “แม่ตั๊ก กะ ป๋าเบียร์” ไปเลย

ทำไม คดี ““ดิไอคอนกรุ๊ป” จึงดัง

ไทยพีบีเอส ออนไลน์ ( ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๗) : ความคืบหน้าประชาชนเดินทางเข้ามาแจ้งความกับผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ยอดตัวเลขรวมทั้งหมด กว่า 1,000 คน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 400 ล้านบาท และยังคงมีประชาชนเดินทางเข้ามาแจ้งความอย่างต่อเนื่อง

ภาพข่าวช่อง ๓ (๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๗) – คดี ดิไอคอน มีผู้เสียหายแจ้งความทั่วประเทศ ๔,๐๒๗ ราย มูลค่าความเสียหาย ๑,๒๕๒ ล้านบาท

โมเดลธุรกิจ “ดิไอคอนกรุ๊ป” แปลก และ สลับซับซ้อน มากกว่า “ธุรกิจขายตรง”

“ดิไอคอนกรุ๊ป”ทำธุรกิจออนไลน์ ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ โดยมีโมเดลในการทำธุรกิจที่ แปลกและสลับซับซ้อน มากกว่า “ธุรกิจขายตรง” มีการ “ขายสินค้า” ให้กับผู้ที่มาลงทุน และมีการอบรมคอร์สต่างๆ ผู้ที่สนใจธุรกิจเป็นผู้ที่ตัดสินใจลงทุน มีการนำดาราและ ผู้มีชื่อเสียงมาแนะนำสินค้า (พรีเซนเตอร์หรือร่วมเป็นบอสส์) มีการจัดอีเวนต์ใหญ่โต เพื่อจูงใจให้คนซื้อสินค้าของบริษัทฯ แต่คนที่ซื้อไปแล้วแต่ ไม่สามารถขายต่อได้ มีการหา “ เครือข่าย” ผ่านรายการทีวี คนที่เป็น “บอสส์” จะบอกลูกทีมว่า ต้องการรายชื่อหรือไม่ ถ้าต้องการต้องจ่ายเงินมาคนละ 10,000 บาท เพื่อรวบรวมเงินให้ได้ 300,000 บาท เพื่อนำไปซื้อชั่วโมงรายการ เมื่อไปออกรายการแล้ว จะได้คอนแทคของคนที่คอมเมนต์เข้ามา แล้วนำไปแจกจ่ายในกลุ่ม เพื่อให้ไปติดต่อตามสคริปต์ที่ระบุไว้ให้ เพื่อจะได้เข้ามาร่วมเป็น “ลูกข่าย”อีกที

มีข้อสังเกตว่า ดิไอคอนกรุ๊ป ไม่ได้โฆษณาขายสินค้า(โดยตรง) แต่โฆษณาคนด้วยเงิน และทรัพย์สิน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า“ เป็นการลวงเพื่อให้เข้ามาสู่ระบบธุรกิจ”

“ดิไอคอนกรุ๊ป” ธุรกิจขายตรง หรือ ตลาดแบบตรง ?

เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๑ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ได้มีหนังสือถึง สคบ. ขอหารือลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัท ว่าจะเข้าลักษณะแบบใด “ ธุรกิจขายตรง หรือ ตลาดแบบตรง”

โดยระบุรายละเอียดการประกอบธุรกิจ ดังนี้

๑) บริษัทฯ เปิดรับสมัคร “ผู้จัดจำหน่าย” โดยให้ผู้ที่ที่สนใจเป็นผู้จัดจำหน่ายสามารถเข้าแจ้งความจำนง หรือจองสิทธิเป็นผู้จัดจำหน่ายในระดับที่บริษัทได้กำหนดให้ แบ่งเป็นผู้จัดจำหน่าย รายย่อย ได้แก่ Distributor ,VIP Distributor Dealer และผู้จำหน่ายรายใหญ่ ได้แก้แก่ Exclusive Dealer

๒) การจองสิทธิเป็นผู้จำหน่ายมี ๒ ระดับ ได้แก่ระดับ Dealer ต้องชำระค่าจองสิทธิเป็นจำนวนเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท และระดับ Exclusive Dealer ต้องชำระค่าจองสิทธิเป็น ๑๐๐,๐๐๐ บาท โดย เงินค่าจองสิทธิถือเป็นส่วนหนึ่งของการชำระค่าสินค้า ก่อนวันที่จะมีการส่งมอบสินค้า

๓) เมื่อบริษัทฯ ประกาศช่วงเปิดรับคำสั่งซื้อสำหรับผู้จัดจำหน่ายในระดับต่างๆ แล้ว ผู้จัดจำหน่ายจะต้องเข้ามา “ เปิดใบสั่งซื้อ” และ ชำระเงินค่าสินค้างวดแรก ๓๐ % ของมูลค่าสินค้าที่รวมภาษีแล้วตาม ใบสั่งซื้อ

๔) บริษัทฯ ได้กำหนดปริมาณ ราคา และผลตอบแทนอื่นๆ เพื่อเป็นรายการส่งเสริมการขายของบริษัทให้แก่ผู้จำหน่ายในแต่ละระดับ โดยมีการแจกทองคำและตั๋วเครื่องบินสำหรับท่องเที่ยว

๕) การประกอบธุรกิจของบริษัทฯ เช่น การสมัครเป็นตัวแทนจำหน่าย โดยใช้ข้อความลักษณะเช่น "จองสิทธิการมัดจำสินค้าล่วงหน้า ๑๐๐,๐๐๐๐ บาท" เป็นต้น และการให้ของแถม สิทธิหรือประโยชน์ต่างๆ โดยจัดทำเป็นภาพโฆษณา โดยใช้ข้อความลักษณะเช่น "เปิดบิล ๑,๐๐๐ กล่อง เที่ยวเกาหลีฟรี และทองคำ ๑๐ กรัม" เป็นต้น

๖) บริษัท ดีโอคอนกรุ๊ป จำกัด ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ"Boom-Thailand เพจบริษัท" ps://www.facebook.com/boomofficials เป็นช่องทางในการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ

สรรพคุณ ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยใช้ข้อความลักษณะเช่น ผิวสวยแค่ดื่ม ผิวสวยไม่กลัวแดด เป็นต้น

กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สคบ.พิจารณาแล้วเห็นว่า

(๑) ลักษณะการประกอบธุรกิจของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด มีลักษณะเป็นการขายส่ง ขายปลีก ให้สมาชิก โดยสมาชิกจะ ได้รับส่วนลดจากการซื้อสินค้าเมื่อสะสมยอดการซื้อสินค้าได้ตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ในรายการส่งเสริมการขาย และเมื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ก็จะได้รับกำไร จำหน่ายปลีกอันเป็นลักษณะของรูปแบบ การขายส่ง ขายปลีก ธรรมดา มิใช่เป็นการทำตลาดในลักษณะของการนำเสนอขายสินค้าโดยตรงไปยังผู้บริโภค โดยผ่านตัวแทนขายตรง หรือ ผู้จำหน่ายอิสระซึ่งได้ทำสัญญาระหว่าง ผู้จำหน่ายอิสระ กับ ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง และมีเงื่อนไขที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจ่ายผลตอบแทนตามแผนการจ่ายผลตอบแทน

ดังนั้น รูปแบบการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ***** จึงไม่ใช่ “การประกอบธุรกิจขายตรง” *****ตามคำนิยามในมาตรา ๓ ที่จะต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรง ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ (เทียบเคียงมติคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ครั้งที่ ๑๖/๒๕๖๐ วาระที่ ๓.๓.๓ เรื่อง พิจารณาข้อหารือรูปแบบการประกอบธุรกิจของบริษัท แอบโซลูท บาย จิ๊บ จำกัด )

(๒) การที่ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ได้โฆษณาคุณภาพหรือสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร โดยใช้ข้อความลักษณะเช่น “ ผิวสวยแค่ดื่ม ผิวสวยไม่กลัวแดด อาจเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์

คุณภาพ หรือ สรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดย ไม่สมควร” อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๐ ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา ๗๐ คือ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้โฆษณาคุณประโยชน์คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารทางเฟซบุ๊ก ชื่อ"Boom-Thailand เพจบริษัท" เพื่อประโยชน์ในทางการค้า โดยไม่ได้นำภาพ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้นให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อนโฆษณาอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๖๖ มาตรา ๔๑ ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา ๗๑ คือโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

ดังนั้น เห็นควรส่งเรื่องดังกล่าวไปยัง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

(๓) การที่ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ได้เปิด รับสมัครผู้จัดจำหน่ายโดยการจองสิทธิเป็นผู้จำหน่าย ๒ ระดับ ได้แก่

๑. ระดับ Dealer ต้องชำระค่าจองสิทธิเป็นจำนวนเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท และต้องซื้อสินค้าเป็นเงิน ๒๐๕,๐๐๐ ถึง ๑,๐๘๐,๐๐๐ บาท

๒. ระดับ Exclusive Dealer ต้องชำระค่าจองสิทธิเป็นจำนวนเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทโดยต้องซื้อสินค้าเป็นเงิน ๑,๗๕๐,๐๐๐ ถึง ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ เช่น ทองคำ ตัวเครื่องสำหรับท่องเที่ยว และเงินสด เป็นต้น อันมีลักษณะเป็นการ “ลงทุน” แล้วได้รับผลตอบแทน อีกทั้ง ยังได้มีการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงินตนหรือบุคคลใดจะจ่าย หรือ อาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้

ซึ่งอาจเข้าข่าย เป็น ความผิดตามมาตรา ๔ แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา ๑๒ คือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังผ้าฝืนอยู่

ดังนั้น เห็นควรส่งเรื่องดังกล่าวไปยัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

(๔) บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ได้มีการแสดงข้อความโฆษณาสินค้าโดยประกาศว่าผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการแถมของรางวัลตามรายการส่งเสริมการขายเมื่อผู้จัดจำหน่ายได้สั่งซื้อสินค้าครบตามจำนวนที่บริษัทฯ ได้กำหนด เช่น ทองคำ ตั๋วเครื่องบินสำหรับท่องเที่ยว และเงินสด เป็นต้น โดยมิได้ระบุรายละเอียดให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๖๒ ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในด้าน
โฆษณาอาจเป็นการกระทำฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ดังนั้นจึงเห็นควรส่งเรื่องดังกล่าวไป กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ต่อมา สคบ. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีหนังสือถึง

๑. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

๒. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

๓. ส่งรายละเอียดข้อเท็จจริงให้ “ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา”

เพื่อให้ ทั้งสามหน่วยงาน พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

แต่แล้ว เรื่องก็เงียบ........ หายไปในกลีบเมฆ

จากปี ๒๕๖๑ สู่ ๒๕๖๗ ฝีเริ่มแตก และ แผลเริ่มระเบิด

“ บอสส์” ต่างต่างถูกจับกุม และถูกอายัดทรัพย์

มาดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

๑) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ ,๘๓ ฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน” ซึ่งมีโทษ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 343 - ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน เป็นเหตุให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอก และประชาชน (ผู้ถูกหลอก)ผู้กระทำต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๒) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ. ๒๕๕๐

มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้

(๑) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(๓).....

(๔).....

(๕)เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)

ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง (๑) มิได้ กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้" ( แสดงว่า หากกระทำต่อประชาชน ยอมความไม่ได้ )

๓) พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔ - การกระทำที่เป็นความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

ผู้ใด โฆษณา หรือประกาศ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ในการ “กู้ยืมเงิน” ตน หรือ บุคคลใด จะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ซึ่งตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรา และ ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ถือว่า ผู้นั้นได้กระทำความผิดฐาน “ กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกง”

มาตรา ๑๒ ผู้ใด กระทำความผิดตามมาตรา ๔ หรือมาตรา ๕ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ห้าปีถึงสิบปี และ ปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาทและปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 4117/2565- การชักชวนให้บุคคลทั่วไปหรืออย่างน้อยตั้งแต่สิบคนขึ้นไปนําเงินมาลงทุนกับจําเลยโดยการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน คือการกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าด้วยการโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือป่าวประกาศต่อประชาชนในสถานที่ต่าง ๆ จึงไม่จําเป็นที่จําเลยจะต้องกระทําการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จําเลยแสดงข้อความหลอกลวงให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนําเงินมาลงทุนกับจําเลยก็ถือเป็นความผิด

๔ ) พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ และ พ.ศ.๒๕๖๐

“ ธุรกิจขายตรง ( DIRECT SELLING)” ซึ่งเป็นวิธีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะเข้าถึงตัวผู้บริโภค โดยมีผู้ขายที่เรียกชื่อตามกฎหมายว่า ผู้จำหน่ายอิสระ หรือ ตัวแทนขายตรงเป็นผู้นำสินค้าไปอธิบาย หรือสาธิตเกี่ยวกับสรรพคุณ คุณภาพของสินค้าแก่ผู้บริโภคโดยตรงตามสถานที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค หรือสถานที่ทำงาน หรือสถานที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ค้าขายตามปกติ

มีข้อสังเกตว่า - ผู้บริโภคจำนวนมากอาจได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะ “ แชร์ลูกโซ่” หรือ “ แบบพีระมิด” ที่แฝงเข้ามาในระบบธุรกิจขายตรง โดยผู้ประกอบธุรกิจจะใช้วิธีการชักชวนให้ประชาชนมาสมัครเป็นสมาชิกเข้าร่วมเป็นเครือข่าย และสัญญาว่าจะให้ประโยชน์ตอบแทนจากการชักจูงผู้อื่นให้เข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย และแสดงให้ผู้ถูกชักจูงเห็นว่าจะได้รับเงินหรือกำไรมากกว่าประโยชน์ที่ผู้นั้นได้จ่ายไป โดยไม่คำนึงถึงรายได้จากการขายสินค้า และเมื่อผู้ประกอบธุรกิจระดมทุนได้ตามที่ต้องการแล้วก็จะเลิกล้มไป ผลเสียจะตกแก่ผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมามีผู้บริโภคจำนวนมากได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว

ส่วน การทำธุรกิจ “ ตลาดแบบตรง (DIRECT MARKETING ) ”นั้น จะไม่มีพนักงานขาย เพราะเป็นการขายสินค้า หรือบริการในลักษณะของการ “สื่อสารข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ” (ขายผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น) และไม่มีผลตอบแทน ผู้บริโภคจึงไม่สามารถจับต้องสินค้าหรือเห็นรูปร่างลักษณะของสินค้าได้อย่างชัดเจน

ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคในขณะนี้ ส่วนใหญ่พบว่าสินค้าที่ผู้บริโภคสั่งซื้อมักจะไม่ตรงกับคำกล่าวอ้างตามที่ได้โฆษณาผ่านสื่อต่างๆ และ เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิคืนสินค้าตามที่ผู้ประกอบธุรกิจให้คำรับประกันความพอใจก็ ไม่ได้รับเงินคืน หรือได้รับเงินคืนล่าช้าเกินควร

มาตรา 19. – ห้ามมิให้ “ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง” และ “ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง” ดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการ ชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่าย ในการประกอบธุรกิจขายตรง หรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ “ผลประโยชน์ตอบแทน” จากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น

หากฝ่าฝืนจะมีบทกำหนดโทษ ตาม มาตรา ๔๖ – คือโทษจําคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินห้าแสนบาท

ผู้เขียนเห็นว่า แม้จะ“ จดทะเบียนขายตรง” ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม แต่หากไม่ดำเนินการตามกฎหมาย แต่กลับทำธุรกิจหลอกลวงประชาชนเพื่อให้ได้ทรัพย์ ก็อาจจะเป็นความผิดฐาน “ ฉ้อโกงประชาชน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓, ๘๓ ซึ่งมีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ

“การประกอบธุรกิจของ ดิไอคอนกรุ๊ป จะเป็นความผิดตามกฎหมายใด จะเป็น “ธุรกิจแบบขายตรง” หรือเป็น “ ตลาดแบบตรง” จะเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน”, และ/หรือฐาน “ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และ/หรือ ฐาน “กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” และ/หรือ ฐาน “ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง” และ “ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง” ดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการ ชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่าย ในการประกอบธุรกิจขายตรง หรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย” และ/หรือ จะเป็น ความผิดฐาน “ฟอกเงิน”หรือ ความผิดฐานอื่นใดอีกด้วยหรือไม่นั้น ? คงต้องติดตามตอนต่อไป

“ขึ้นต้นเป็น บอสส์ ลงท้ายเป็น บุ๋ม”เส้นบางบางระหว่าง ธุรกิจ กับ หลอกลวงประชาชน”

นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมการธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่ 25) ๑๙ ตุลาคม 2567



Mediathailand.Report

ติดต่อทำข่าว งานแถลงข่าว เชิญร่วมงาน , ข่าวประชาสัมพันธ์ , รีวิว โฆษณา ฯลฯ Admin: สื่อมวลชนคนทำข่าว , เพจ Mediathailand.report , Website : www.mediathailand.report , Youtube : MDT Channel ,https://www.tiktok.com/@mediathailand.report ,https://twitter.com/a_jaipiam ได้ที่ Email : pintorichplus@gmail.com

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า