บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “ ดิว ที่ ไม่ดิว ”

 

บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์

 เรื่อง “ ดิว   ที่ ไม่ดิว ”

            สืบเนื่องจากข่าว “ เมย์ วาสนา" ส่งทนายแจ้งความ "ดิว อริสรา" ข้อหา “ ยักยอกทรัพย์”        ปมกระเป๋าแบรนด์เนมและเครื่องเพชรมูลค่ารวมกว่า 62 ล้านบาท แต่นำไป “ จำนำ”  โดยไม่ได้รับอนุญาต ”

      

            และข่าว “ บริษัทฯ ดังแจ้งจับ ดิว อริสรา ฐาน “ ฉ้อโกง”  คดี “ รับซื้อฝาก” สร้อยคอหรู  7 ล้าน เผยดาราดังเสนอผ่อนจ่ายเดือนละแสน จนกว่าจะครบ 7 ล้าน...

 

            และข่าว “ ทางคุณเมย์ ได้แจ้งความกับกองปราบปรามไว้แล้ว และจะฟ้องอะไรอีกหรือไม่ แต่เบื้องต้นขณะนี้ คุณเมย์ทราบแล้วว่า นาฬิกา Richard Mille อยู่ที่ไหน ส่วนทรัพย์สินอื่น ๆ อีกหลายรายการนั้นยังไม่ทราบ เพราะฉะนั้น คนที่ดูอยู่และมีทรัพย์สินอยู่ ขอให้รู้ไว้ว่าอาจเข้าข่าย 

 “ รับของโจร ” ได้ หากใครที่รับสิ่งของเหล่านั้นจาก ดิว อริสรา ไป

 

            จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์เดียวกัน หรือ เหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกันดังกล่าว จะมีการพูดถึงความผิดฐาน “ ยักยอกทรัพย์” , ความผิดฐาน  “ ฉ้อโกง” และ ความผิดฐาน “ รับของโจร”

 

            ความผิดทั้งสามฐานดังกล่าว คือ อะไร มีความเหมือนกัน หรือ แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร ?

           

            การนำทรัพย์ของเพื่อนที่ให้ยืม...แล้วนำไป จำนำ ”  จะเป็นความผิดฐานใด ?

           

            ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  352 บัญญัติว่า 

            ผู้ใด ครอบครองทรัพย์ ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้น เป็นของตนหรือบุคคลที่สาม โดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิด ฐาน “ ยักยอก ”  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” 

 

            อธิบายให้เข้าใจแบบง่ายๆ คือ “ยักยอก”  ต้องเป็นกรณี มี มีการส่งมอบทรัพย์ของเขาให้เราครอบครอง โดยสมัครใจเสียก่อน ไม่ใช่ ส่งมอบทรัพย์ให้ไปโดยการหลอกลวงด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้เขาสำคัญผิดแล้วส่งมอบทรัพย์ให้เราครอบครอง  แล้วต่อมาได้เบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปเป็นของตนหรือ ของบุคคลที่สามโดยที่ไม่มีสิทธิ

 

            ความผิดฐาน “ ยักยอก”  เป็นกรณีที่ “ ผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์” ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และ ในระหว่างการครอบครองนั้น “ กลับเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไป”  เป็นของตนโดยทุจริต

            ซึ่งคำว่า “ โดยทุจริต  มีความหมายว่า “ แสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น”

 

                 แล้วความผิดฐาน “ฉ้อโกง”   แตกต่างกับความผิดฐาน “ ยักยอก” อย่างไร ?

 

                ความผิดฐาน “ ฉ้อโกงทรัพย์ ”
                ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 บัญญัติว่า  ผู้ใด โดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่น ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูก หลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” 

 

            อธิบายให้เข้าใจแบบง่าย ๆ คือ “ ฉ้อโกง” นั้น ต้องมีการ หลอกลวง โกหก หรือ ปกปิดความจริง เพื่อทำให้คนอื่นหลงเชื่อ และ ผลของการ “ หลงเชื่อ โดยสำคัญผิด” นั้นทำให้ผู้อื่นส่งมอบทรัพย์ให้แก่ตน อย่างนี้ เป็นความผิดฐาน “ ฉ้อโกง ”


           
ความผิดฐาน “ ฉ้อโกง”  เป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิด ต้องมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้อื่น ด้วยวิธีการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้  โดยมีเจตนาเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของบุคคลอื่นหรือบุคคลที่สามโดยผู้กระทำความผิดต้อง มีเจตนาดังกล่าวมาตั้งแต่แรก

            หากมี เจตนาและทำการหลอกลวง “ ในภายหลัง” อาจเป็นความผิดฐาน “ ยักยอก ”

            มาตรา 348  - ความผิดในหมวดนี้ (ฉ้อโกง)….เป็น ความผิดอันยอมความ ได้
            มาตรา 356 -  ความผิดในหมวดนี้ (ยักยอก) เป็น     ความผิดอันยอมความ ได้

 

            ผลของการเป็นความผิดอันยอมความได้
           
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ที่บัญญัติว่า “…ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหาย มิได้ “ ร้องทุกข์ ”  ภายใน 3  เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

            ฉะนั้น ผู้เสียหาย จะต้องไปร้องทุกข์ภายใน  3  เดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ว่าตนถูกหลอกถูกฉ้อโกง หรือถูกยักยอกทรัพย์ และนับแต่วันที่รู้ว่า ใครเป็นผู้กระทำผิด   หากพ้นกำหนดดังกล่าวแล้ว ผู้เสียหายไม่ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด  คดีเป็นอันขาดอายุความ ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอีกต่อไป

 

            กรณีดังกล่าวอาจเกิดในกรณีที่ ผู้กระทำผิด อาจจะพยายามเจรจาต่อรองให้ผู้เสียหายไม่ไป        ร้องทุกข์    อ้างว่า ขอเวลาหาทางชำระคืน หรือ ขอผ่อนชำระ ขอชดใช้คืน ในวันเวลาที่ใกล้ขาดอายุความ  และเมื่อถึงเวลานัดหมาย ก็ขอเลื่อนออกไปอีก จนทำให้คดีขาดอายุความ

 

            ความผิดฐาน  “ ฉ้อโกง”  มีความคล้ายคลึงกับ “ การผิดสัญญาแพ่ง”

 

1.)    หากคู่กรณี “ ตั้งใจที่จะไม่ทำตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก” จะถือว่า เป็นความผิดฐาน “ ฉ้อโกง ”

            แต่หากเป็นการที่ไม่สามารถทำตามสัญญาได้ด้วยเงื่อนไขบางประการโดยไม่ได้ตั้งใจแต่แรกจะถือเป็นการ “ ผิดสัญญาทางแพ่ง ”

 

2.)    เงินหรือทรัพย์สินที่ให้ไปนั้น ใช้ตรงวัตถุประสงค์หรือไม่

หากใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ อาจเป็นความผิดฐาน “ ฉ้อโกง ” ได้

            เช่น นาย ก. ขอกู้ยืมเงินจากนาย ข.  โดยอ้างว่าไปใช้รักษาสุขภาพของตนเอง แต่ความเป็นจริงแล้ว นาย  ก. นำเงินที่ได้นั้นไปซื้อ กระเป๋าแบรนด์เนม แบบนี้จะถือว่าเป็นความผิดฐาน “ ฉ้อโกง”

3.)    หากมีการใช้ “ เอกสารปลอม” หรือ มีการ “ การอ้างถึงบุคคลที่สาม”  ตั้งแต่เริ่มทำสัญญากัน จะถือเป็นความผิดฐาน “ ฉ้อโกง ”

 

            แล้วความผิดฐาน “ รับของโจร”  คืออะไร?

            ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357  

 

             ผู้ใด ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพา หรือ นำไป ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ โดยรู้ว่าทรัพย์นั้นได้มาโดยการกระทำความผิดที่เกิดจากการ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน “ รับของโจร”  (ความผิดมูลฐาน) ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

            แต่ ความผิดฐาน “ รับของโจร”  นั้น   “ยอมความไม่ได้”  เพราะว่า เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357

            แต่หากได้มีการ คืนทรัพย์นั้นแก่เจ้าของที่แท้จริงไปแล้ว หรือมีการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ ผู้เสียหาย หรือ หากผู้กระทำผิดมีประวัติที่ดี ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมมาก่อน อาจเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษโดยการรอลงโทษจำคุก และคุมประพฤติแทนได้

 

            มาดูแนวคำพิพากษาศาลฎีกา

 

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2482

            นำ “ ทรัพย์สินของผู้อื่น” ที่ “ อยู่ในความครอบครองของตนเอง ”  ไป “ จำนำ ” โดยมีเจตนา       ที่จะไถ่ถอนทรัพย์สินนั้นคืนภายหลัง ไม่เป็น “ การเบียดบังทรัพย์สิน” ในลักษณะที่เป็นการ                     “ ตัดกรรมสิทธิ์  ของเจ้าของจึง  ไม่เป็น ความผิดฐานยักยอก

 

            แต่ถ้าหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า เป็นการ “ จำนำ ”  ในลักษณะที่ไม่มีเจตนาจะไถ่ถอนคืน       หรือ ไม่มีความสามารถในการไถ่ถอนคืนเลย ก็เป็นความผิดฐาน “ ยักยอก” ได้  ( ฎีกาที่ 1125/2507, 1165/2468

 

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5651/2541

            แต่ถ้า โจทก์ร่วมได้ มอบทรัพย์แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยนำไปขาย โดยจำเลยจะกำหนดราคาขายมาก หรือ น้อยหรือจะจัดการแก่ทรัพย์ นั้นอย่างไรก็ได้ จำเลยเพียงแต่มีหน้าที่ต้องนำเงินตามราคา ที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้ หรือ นำทรัพย์สินมาคืนแก่โจทก์ร่วมเท่านั้น

             การที่จำเลยไม่ยอมนำทรัพย์ตามฟ้องมาคืนหรือมอบเงินแก่ โจทก์ร่วมถือได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่ง ต่อโจทก์ร่วม เท่านั้น   ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

 

            คำพิพากษาฎีกาที่ 2608/2548 (เกี่ยวข้องกับมูลค่าของสินค้า)

            แม้ขณะที่ ก. กับ จ. เอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปจะ ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์เนื่องจากได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย แต่ ก. กับ จ. มีหน้าที่ต้องนำรถจักรยานยนต์มาคืนผู้เสียหาย การที่ ก. กับ จ. ไม่นำมาคืน ผู้เสียหาย กลับนำไปขายให้แก่จำเลยทั้งที่ไม่ใช่ของตน ถือได้ว่า ก. กับ จ. มีเจตนาเบียดบังเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐาน “ ยักยอก ”  เมื่อจำเลยรับซื้อไว้ในราคาเพียง 800 บาท ต่ำกว่าราคาแท้จริง 7,000 บาท มาก โดยไม่ประสงค์ตรวจสอบเสียก่อนว่าคู่มือจดทะเบียนรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวมีชื่อ ก. กับ จ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่ ย่อมเป็นการ ผิดวิสัยของบุคคลโดยทั่วไป เชื่อว่าจำเลยรับซื้อไว้โดยรู้อยู่แล้วว่ารถจักรยานยนต์ที่ ก. กับ จ. นำมาขายได้มาจากการกระทำความผิดอาญาฐานยักยอก ดังนั้น ไม่ว่าการที่ ก. กับ จ. ได้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอก การกระทำของจำเลยถือว่าครบองค์ประกอบความผิดฐาน “ รับของโจร”  ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก

 

            จากหลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว จะเห็นได้ว่า

 

            หาก นำทรัพย์ของผู้อื่นที่ให้ยืมหรือขอยืมมา แล้วนำไป “ จำนำ ” โดยเจ้าของไม่ได้อนุญาต หรือยินยอม   กรณีจะเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ” เนื่องจาก เจ้าของทรัพย์ได้ส่งมอบการครอบครองทรัพย์ให้ เนื่องจากมีการขอยืม หรือให้ยืมมา   แต่แทนที่จะมีการนำทรัพย์ที่ยืมมาดังกล่าวไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้ง หรือ ขออนุญาตจากเจ้าของทรัพย์ แต่กลับนำทรัพย์ที่ขอยืมไป           “ จำนำ ” โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของทรัพย์ จึงเป็นการ “ ครอบครองแล้ว เบียดบังเอาไป ”                จึงเป็นความผิดฐาน   ยักยอกทรัพย์    ตาม ประมวลอาญา มาตรา 352  ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

             แต่หาก ผู้กระทำ มีเจตนาแต่แรก ที่จะนำทรัพย์ที่ขอยืมไป “ จำนำ ” โดยไม่ประสงค์จะไถ่ถอนจำนำมาตั้งแต่ต้น หรือ นำไปขายให้แก่ผู้อื่นเลย เช่นนี้ อาจเป็นความผิดฐาน “ ฉ้อโกงทรัพย์”  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341  เพราะมีการ หลอกลวง ผู้เสียหาย โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า “ ขอยืม ”  แต่ความจริงต้องการนำทรัพย์ที่ขอยืมไป “ จำนำ”  ผู้อื่น โดยไม่ประสงค์จะไถ่ถอนจำนำ เลยหรือ นำไปขายให้แก่ผู้อื่นเลย  ทำให้ไม่มีทรัพย์ของผู้เสียหายมาคืนแก่ผู้เสียหายได้ ตามที่ตนได้แสดงข้อความว่า “ ขอยืม”  กรณีเช่นนี้ ก็จะเป็นความผิดฐาน “ ฉ้อโกง ”

 

            ส่วนคนที่รู้อยู่แล้วว่า ทรัพย์นั้น เป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูก “ยักยอก” มา หรือ ถูก “ ฉ้อโกง” มา หรือ เป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด ยักยอก หรือ ฉ้อโกง มาดังกล่าว แล้วยังรับไว้ หรือ ช่วยจำหน่าย ช่วยพาทรัพย์นั้นไป อาจเป็นความผิดฐาน “ รับของโจร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357   ได้

 

            กรณี “ ดิว อริสรา ” จะเป็นความผิดฐานใด หรือไม่ อย่างไร ขึ้นอยู่กับ พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนจะได้รวบรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน และ กรณีจะไปถึงการพิจารณาสำนวนคดีของพนักงานอัยการ หรือ ศาลยุติธรรม หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ผู้เสียหาย กับ  ดิว อริสรา และผู้เกี่ยวข้อง ว่าจะสามารถตกลง หรือ ยอมความกันหรือไม่ เนื่องจากเป็นความผิดอันยอมความได้ (ยกเว้นความผิดฐาน รับของโจร) 

 

            หาก ผู้เสียหาย ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้เสียหาย และถอนคำร้องทุกข์ จะมีผลทำให้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้อง ย่อมเป็นอันระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ( 2 )

 

            มาถึงบรรทัดนี้ ท่านคงได้รับความรู้ทางกฎหมายจาก “ ข่าว” ไม่มากก็น้อย

           “ ดิว จะดิว”   หรือ  “ ดิว จะไม่ดิว”  คงจะต้องติดตามต่อไป

 

·       นายวรเทพ  สกุลพิชัยรัตน์

            อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ

            (อดีต ) รองประธานคณะอนุกรรมการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน  สภาผู้แทนราษฎร ( สมัยที่ 25)

            6 เมษายน  2568

 


 

 

 

Mediathailand.Report

ติดต่อทำข่าว งานแถลงข่าว เชิญร่วมงาน , ข่าวประชาสัมพันธ์ , รีวิว โฆษณา ฯลฯ Admin: สื่อมวลชนคนทำข่าว , เพจ Mediathailand.report , Website : www.mediathailand.report , Youtube : MDT Channel ,https://www.tiktok.com/@mediathailand.report ,https://twitter.com/a_jaipiam ได้ที่ Email : pintorichplus@gmail.com

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า